ประเพณี อำเภอแม่อาย
ประเพณีกินวอ
ตำบลท่าตอน เป็นตำบลเล็กๆที่มีภูเขาล้อมรอบ มีลำน้ำกกไหลผ่าน มีทัศนีย์ภาพที่สวยงาม และยังเป็นตำบลที่มีชนเผ่าอาศัยอยู่มากมายหลายเผ่า จึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลายและมีความน่าสนใจ เป็นอย่างยิ่ง
ประเพณีกินวอ หรือขึ้นปีใหม่ ของชนเผ่าลาหู่ ถือว่าเป็นเทศกาลแห่งความสุขของชาวลาหู่เพราะจะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนานโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนจะมีการเต้น “จะคึ” ซึ่งเป็นการเต้นที่เป็นเอกลักษณ์และหาชมได้ยาก งานจะจัดขึ้นเป็นเวลา 7 วันโดยแบ่งออกเป็นวันปีใหม่ของผู้หญิง 4 วันและวันของผู้ชาย 3 วันประเพณี จะถูกจัดขึ้นในช่วงเดือน มกราคม ของทุกปี ณ หมู่บ้านชนเผ่าลาหู่ ที่อยู่ในพื้นที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
ประเพณีผูกข้อมือ
เป็นประเพณีของชนเผ่ากะเหรี่ยง ตามความเชื่อถือที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา ด้วยความที่เชื่อว่าในร่างกายของคนเรามีอยู่ 33 ขวัญ เช่นขวัญศรีษะ ขวัญจะละทิ้งหรือหายไปก็ต่อเมื่อคนๆนั้นตายไป นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่าขวัญชอบที่จะหนีไปท่องเที่ยวตามความต้องการของมันเอง และอาจจะถูกผีร้ายต่างๆทำร้ายหรือกักขังไว้ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นล้มป่วย การรักษาพยาบาลช่วยเหลือคนเจ็บป่วยคือให้พ่อหมอผีประจำหมู่บ้านเรียกขวัญให้กลับมาสู่บุคคลที่เจ็บป่วยพร้อมกับทำพิธีผูกข้อมือรับขวัญเซ่นไหว้ผีด้วยไก่,หมูสีดำ,เหล้าป่า งานประเพณีผูกข้อมือจัดขึ้นทุกปีในเดือนกุมภาพันธ์ ณ หมู่ 9 บ้านเมืองงาม ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
ประเพณียกย่องครูหมอไตย
วันยกย่องครูหมอไตหรือ(วันไหว้ครู)จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้รำลึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นนักประพันธ์ หรือนักกวี ที่มีชื่อเสียงทั้งหลายของชาวไต ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ภายในงานจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ที่หาชมได้ยาก เช่นการฟ้อนกิงกะหล่า ฟ้อนโต ประเพณียกย่องครูหมอไตยจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ที่ วัดใหม่หมอกจ๋าม หมู่ 8 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
ประเพณีสงกรานต์
ประเพณีบวชลูกแก้ว(ปอยส่างลอง)
ปอยบวชลูกแก้ว (ปอยส่างลอง)เป็นประเพณีบวชเณรตามความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและมีความเชื่อว่าจะได้รับบุญกุศลจากการบวชสามเณร พิธีกรรมจะมีการจัดอย่างใหญ่โตโดยแบ่งงานออกเป็น 3 วันคือ
วันแรก เรียกว่าวันแต่งดาในตอนเช้านำเด็กที่โกนหัวแล้วไปแต่งชุดลูกแก้วคล้ายเจ้าชายไทยใหญ่ รับศีล หลังจากนั้นนำลูกแก้วแห่ขอขมาศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ขอขมาพระสงฆ์ที่วัดและญาติผู้ใหญ่ ผู้ที่เคารพรักใคร่ชอบพอตลอดทั้งวันและนำลูกแก้วกลับไปรับประทานอาหารพักผ่อนที่บ้านเจ้าภาพ
วันที่สอง เป็นวันแห่เครื่องไทยทานทำในตอนเช้ามีขบวนแห่เครื่องไทยทานและลูกแก้วไปที่วัด มีการเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมขบวนแห่ และมีการทำขวัญลูกแก้ว เลี้ยงอาหารมื้อพิเศษมีอาหาร ๑๒ อย่าง แก่ลูกแก้วด้วย
วันที่สาม เป็นวันบรรพชาสามเณร ตอนบ่ายแก่แห่ลูกแก้วไปที่วัดและทำพิธีบรรพชา และอาจมีจุดบั้งไฟเป็นการเฉลิมฉลองด้วย
ประเพณีปอยบวชลูกแก้วลองจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนเมษายน หรือเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ณ วัดท่าตอนพระอารามหลวง
ประเพณีโล้ชิงช้า
ประเพณีโล้ชิงช้าหรือที่อาข่าเรียกว่า “แย้ขู่อาเผ่ว” เป็นประเพณีรื่นเริงที่สำคัญมากประเพณีหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึง พระคุณแห่งเทพธิดา “อึ่มซาแยะ” ผู้ประทานความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกด้วย ซึ่งประเพณีนี้จะมีการจัดขึ้นทุกปี ประมาณ ปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ผู้หญิงอาข่า จะมีการแต่งกายอย่างสวยงาม จากเสื้อผ้าที่ได้เตรียมตลอดทั้งปี มาสวมใส่เป็นกรณีพิเศษในช่วงประเพณีนี้ พิธีกรรมจะถูกจัดขึ้นทั้งหมด 4 วัน
วันแรก เป็นพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ผู้หญิงจะไปตักน้ำบริสุทธิ์ที่แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน เพื่อนำไปแช่ข้าวเหนียวไว้ตำเพื่อเป็นอาหารเส้นไหว้บูชาที่เรียกว่า “ ข้าวปุก”
วันที่สอง วันเริ่มปลูกสร้างชิงช้า วันนี้จะไม่มีการฆ่าสัตว์ใด หนุ่มสาวจะรวมกลุ่มกันร้องเพลงอย่างสนุกสนาน
วันที่สาม เป็นวันฉลองต้อนรับปีใหม่ซึ่งถือว่าเป็นพิธีใหญ่ มีการฆ่าหมู ไก่ และนำสุรามาเลี้ยงกันทั้งหมู่บ้าน และแขกที่มาร่วมงาน
วันที่สี่ เป็นวันสุดท้ายของพิธีกรรม หนุ่มสาวและเด็กจะร่วมกันโล้ชิงช้ากันทั้งวัน ประเพณีโล้ชิงช้านี้จะจัดขึ้นที่บ้านห้วยศาลา อำเภอท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่
ประเพณีลอยพระอุปคุต
ลอยพระอุปคุตนั้นเป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ ในอำเภอแม่อาย จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ตามความเชื่อของล้านนาและชาวไทยใหญ่เชื่อว่าพระอุปคุตนั้นสิงสถิตอยู่ที่ ใต้แม่น้ำ หรือสะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มากมาย การลอยพระอุปคุตนั้นก็คือการบูชาท่าน เพราะท่านชอบอยู่ใต้น้ำจึงต้องลอยน้ำบูชาท่าน ถือกันว่า พระอุปคุตนั้นมีอยู่ 8 องค์นิพพานไปแล้ว 4 องค์ ที่ยังเหลืออยู่ 4 องค์ ดังนั้นการลอยบูชาท่านจึงจัดให้มี 8 องค์ พิธีการ จะมีการสร้างพระอุปคุตด้วยไม้ ขึ้น 8 องค์ ใส่ในมณฑปที่สร้างขึ้นสำหรับแต่ละองค์เริ่มพิธีบูชาตั้งแต่ ขึ้น 14 ค่ำ และในวันขึ้น 15 ค่ำ โดยขบวนแห่พระอุปคุตจะเริ่มตั้งแต่วัดแม่อายหลวง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วจึงทำพิธีลอยในแม่น้ำกก ณ ท่าเรือบ้านท่าตอน หมู่ 3 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
ประเพณีลอยปอยเทียน
ชาวไทยใหญ่ที่มีความเชื่อหลังจากออกพรรษาแล้ว จะต้องแห่ต้นเทียน พร้อมสิ่งของเพื่อนำไปถวายแด่พระสงฆ์ โดยเชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จลงมาในช่วงนี้ และเป็นกุสโลบายของผู้ใหญ่ที่ต้องการให้ลูกหลานได้มาพบกันและได้ทำบุญร่วมกัน ในวันนั้นชาวบ้านจะไปหาต้นสนมาผ่าเป็นชิ้นเล็กๆ นำมามัดรวมกันเป็นต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ 2.5-3 เมตร แล้วแห่ไปถวายวัดด้วย พร้อมกับจุดไฟต้นสน เพื่อเป็นพุทธบูชาสร้างนิมิตหมายและความเป็นศิริมงคลให้แก่ชีวิตที่โชติช่วง หญิงและชายจะแต่งกายในชุดของชาวไทยใหญ่อย่างสวยงาม มีวงดนตรีพื้นบ้านแห่นำหน้า พร้อมกับจุดเทียนส่องสว่างเดินไปยังวัด ประเพณีนี้จะถูกจัดขึ้นในช่วงหลังวันออกพรรษา ณ วัดใหม่หมอกจ๋าม หมู่8 บ้านใหม่หมอกจ๋าม
ประเพณีลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทงตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ตำบลท่าตอนเป็นตำบลที่มีแม่น้ำกกไหลผ่าน แม่น้ำกกจึงเป็นสายน้ำที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งในการเกษตร อุปโภค บริโภค ดังนั้น เมื่อถึง 15 ค่ำ เดือน 12 ประชาชนในพื้นที่ก็จะนำกระทงมาลอยเพื่อเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ซึ่งทางตำบลท่าตอนก็ได้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี และมีกิจกรรมมากมายเช่น การประกวดนางนพมาศ การแสดงศิลปะพื้นบ้าน การประกวดกระทงใหญ่ การจุดพลุดอกไม้ไฟ งานจัดขึ้น ณ บริเวณท่าเรือบ้านท่าตอน หมู่ 3 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
#### อ้างอิง http://www.sri.cmu.ac.th/~localdevelop/index.php?option=com_content&view=article&id=156%3A2010-12-03-09-26-21&catid=89%3A2010-12-02-03-02-50&limitstart=2
No comments:
Post a Comment