Monday, February 22, 2016

ประวัติ

1. ประวัติความเป็นมา      
       
          อำเภอแม่อายตั้งอยู่ในบริเวณเมืองโบราณที่ชื่อ เวียงมะลิกา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ตำบลแม่อาย ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่อาย 2 กิโลเมตร มีทางแยกออก จากทางหลวงแผ่นดินสายฝาง-ท่าตอน กิโลเมตรที่ 16.50 เป็นทางดินอัดแน่นระยะทาง 200 เมตร มีคูเมืองและซากอิฐกำแพงดินเป็นที่สังเกตได้ราษฏร ถือว่าเป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ ตำนานเวียงมะลิกา เขียนว่า เจ้าแม่มะลิกา เป็นราชบุตรี ในพระเจ้าฝางและพระนางสามผิว (พระนางสามผิว มีพระฉวีวรรณงดงามในตอนเช้า มีพระฉวีวรรณผุดผ่องดุจดอกมะลิ ในเวลาเที่ยงวันพระฉวีวรรณ เปลี่ยนเป็นสีแดงดอกกุหลาบ ต่อมาเวลาเย็นพระฉวีวรรณจะเปลี่ยนแปลงเป็นสีชมพูดุจ ดอกบัวจงกลนี จึงได้พระนามว่า "พระนางสามผิว" พระนางสามผิว มีพระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ ทรงสักการะบูชาทุกค่ำเช้า วันหนึ่งมี่ขุ่นเคืองพระทัยด้วยเรื่อง พระสนมเอกของพระเจ้าฝาง เมื่อถึงเวลาถวายเทียนสักการะบูชาพระพุทธปฏิมาแต่พระองค์ยังมิอาจดับพระทัยที่ขุ่นเคืองได้ ขณะที่จุดเทียนถวายสักการะ บูชาพระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์ และทรงละเลยไว้ด้วยความประมาท เทียนที่จุดไว้ล้มลงเผาไหมพระโอษฐ์พระพุทธปฏิมา รุ่งขึ้นเวลาเช้าเมื่อพระนางเจ้า เสด็จออกจากที่บรรทมทรงทราบว่าเทียนล้มลงเผาไหม้พระโอษฐ์พระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์ก็ทรงสำนึกความบาปที่กระทำด้วยความประมาท ครั้นกาลต่อมา พระครรภ์ครบกำหนดทศมาส ประสูติพระราชธิดาผู้ทรงโฉมศิริโสภาคพระฉวีวรรณผุดผ่องแม้นเหมือนพระมารดา แต่ก็มีตำหนิที่ควรสมเพชที่พระธิดา มีริมพระโอษฐ์ล่างแหว่งไป

          เมื่อราชบุตรีทรงวุฒิจำเริญขึ้น พระเจ้าฝางทรงเกรงเป็นที่ละอายแก่ไพร่ฟ้าพลเมืองจึงทรงสร้างสวนหลวงขึ้นทางทิศเหนีอเวียงสุโท (ใกล้กับ เมืองฝาง) และสร้างคุ้มหลวง ประกอบด้วย คู และปราการ ล้อมรอบประทานราชบุตรี ให้เป็นที่ประทับสำราญ สวนหลวงแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "เวียงมะลิกา" เชื่อว่า เวียงมะลิกาไม่มีบุรุษเพศเลย ผู้คนล้วนแต่สตรีเพศพระแม่เจ้าทรงฝึกฝนสตรีผู้กำยำเป็นทะแกล้วคนหาญของเวียงมะลิกา จนเป็นที่ลือชา ปรากฏว่าเวียงมะลิกามีคนหาญการธนูที่แกร่งกล้ายิงแม่นนัก

          กาลต่อมามีราชบุตรของเจ้าผู้ครองเวียงภูก่ำ (แคว้นไตใหญ่) ได้สดับข่าวเกี่ยวกับพระเจ้าแม่มะลิกา แรงแห่งบุพเพสันนิวาสเกิดขึ้นในราชบุตร พระราชบุตรได้ทรงอ้อนวอนพระเจ้าภูก่ำ ขอเสด็จไปเวียงมะลิกาเยี่ยงสามัญชนคนค้าขาย พระเจ้าภูก่ำทรงอนุยาต แล้วดำรัสสั่งอำมาตย์คนสนิท ให้ ตระเตรียมม้าต่างอัญมณีเป็นสินค้าโดยเสด็จพระราชบุตร ข่าวการเสด็จฯของพระราชบุตรทราบถึงเจ้าแม่มะลิกา พระองค์ก็เกิดอางขนางในวันที่พระราช บุตรกำหนดเข้าเฝ้าถวาย อัญมณีแม่เจ้าก็เสด็จหลีกลี้ไปสรงสนานน้ำห้วยและแต่งให้พระพี่เลี้ยงนางเหลี่ยวอยู่เวียงมะลิการับเสด็จพระราชบุตร เมื่อพระราช บุตรในรูปของพ่อค้านายวาณิชเข้าเฝ้า พระพี่เลี้ยงก็กล่าวว่าแม่เจ้าไม่ทรงปรารถนาพบเห็นชายใด ๆ และไม่ต้องประสงค์ในการได้ยินเรื่องเช่นนี้ พ่อค้า จำแลงก็ลากลับเวียงภูก่ำด้วยความโทมนัส ขณะที่พระนางมะลิกาสรงสนานอยู่ น้ำในลำห้วยก็กลายเป็นสีเลือดด้วยละอายพระทัยคนทั้งหลายจึงเรียกน้ำห้วย นั้นว่า "แม่อาย" จึงได้ชื่อตำบลนี้ว่า "แม่อาย"


          อำเภอแม่อาย เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้นกับอำเภอฝาง ซึ่งทางราชการได้แยกตำบลแม่อาย ตำบลแม่สาว และตำบลแม่นาวาง ออกจากอำเภอฝาง ยกฐานะ ให้เป็นกิ่ง ให้นามว่ากิ่งอำเภอแม่อายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2510 และเวลาต่อมาอีก 6 ปี ได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอแม่อาย ขึ้นเป็นอำเภอแม่อาย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2516

          อำเภอแม่อายอยู่ห่างจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ ไปทางทิศเหนือประมาณ 175 กิโลเมตร อำเภอแม่อายมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และ วัฒนธรรมที่สำคัญเช่น พระธาตุสบฝาง พระธาตุดอยน้ำค้าง พระธาตุปูแช่ อนุสาวรีย์เจ้าแม่มะลิกา
อ.แม่อาย  จ.เชียงใหม่  อยู่ทางทิศเหนือตอนบนของประเทศไทย  ติดพรมแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศพม่า ที่ว่าการอำเภอแม่อาย และศูนย์ราชการอำเภอแม่อาย  อยู่ที่บ้านปู่แช่ใหม่ ม.4 ต.แม่อาย บนถนนสายฝาง – ท่าตอน  (ทางหลวงหมายเลข 1098 กิโลเมตรที่ 19 ) ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือ 173  กม. ไปตามถนนสายเชียงใหม่ – ฝาง  151  กม.  (ทางหลวงหมายเลข  107 ) และตามถนนฝาง – ท่าตอน (ทางหลวงหมายเลข 1098)

2. เนื้อที่/พื้นที่



736.701 ตร.กม.

3. สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป
          อากาศเย็นสบายมีอุณหภูมิเฉลี่ย ประมาณ 20 องศาเซลเซียส ในฤดูหนาว จะหนาวจัด มีหมอกปกคลุม พื้นที่อุณหภูมิเคยต่ำสุดถึง 2 องศา ส่วนฤดูร้อน อุณหภูมิ 34 องศา ฤดูฝนปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,200 - 1,400 มม. 

####  อ้างอิง  http://www.amphoe.com/menu.php?mid=1&am=155&pv=13

No comments:

Post a Comment