Friday, March 11, 2016

แนะนำตัว


แนะนำตัว

ชื่อ  นายชาตรี  ศรีรักษ์      รหัสนักศึกษา  571770623
Section. AD   คณะ  รัฐประศาสนศาสตร์  สำนักวิชา บริหารรัฐกิจ
ลำดับที่  46
วิชา  เทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวัน  GEN1102





อาหารพิ้นบ้าน


  อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ
         
          ในอดีตบริเวณภาคเหนือของไทยเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนามาก่อน ช่วงที่อาณาจักรแห่งนี้เรืองอำนาจ ได้แผ่ขยายอาณาเขตเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และมีผู้คนจากดินแดน ต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแห่งนี้ จึงได้รับวัฒนธรรมหลากหลายจากชนชาติต่าง ๆ เข้ามา ในชีวิตประจำวันรวมทั้งอาหารการกินด้วย

          อาหารของภาคเหนือ ประกอบด้วยข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก มีน้ำพริกชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง มีแกงหลายชนิด เช่น แกงโฮะ แกงแค นอกจากนั้นยังมีแหนม ไส้อั่ว แคบหมู และผักต่าง ๆ สภาพอากาศก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้อาหารพื้นบ้านภาคเหนือแตกต่างจากภาคอื่น นั่นคือ การที่อากาศหนาวเย็นเป็นเหตุผลให้อาหารส่วนใหญ่มีไขมันมาก เช่น น้ำพริกอ่อง แกงฮังเล ไส้อั่ว เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น อีกทั้งการที่อาศัยอยู่ในหุบเขาและบนที่สูงอยู่ใกล้กับป่า จึงนิยมนำพืชพันธุ์ในป่ามาปรุงเป็นอาหาร เช่น ผักแค บอน หยวกกล้วย ผักหวาน ทำให้เกิดอาหารพื้นบ้าน  ชื่อต่าง ๆ เช่น แกงแค แกงหยวกกล้วย แกงบอน
          อาหารพื้นบ้านภาคเหนือมีความพิเศษตรงที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมการกินจากหลายกลุ่มชน
เช่น ไทใหญ่ จีนฮ่อ ไทลื้อ และคนพื้น มีสำรับอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น

 
แกงอ่อม

          ถือเป็นอาหารยอดนิยมอย่างหนึ่งในบรรดาอาหารเหนือทั้งหลาย โดยเฉพาะในเทศกาลงานเลี้ยงโอกาสพิเศษต่าง ๆ แกงอ่อมเป็นแกงที่ใช้เนื้อได้ทุกประเภท เช่น เนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อไก่

   
             

                                                                      
ข้าวซอย    

          เป็นอาหารของไทลื้อ ที่นำมาเผยแพร่ในล้านนาหรือภาคเหนือ ตามตำรับเดิมจะใช้พริกป่นผัด
โรยหน้าด้วยน้ำมัน เมื่อมาสู่ครัวไทยภาคเหนือก็ประยุกต์ใช้พริกแกงคั่วใส่กะทิลงไปกลายเป็น
เคี่ยวให้ข้น ราดบนเส้นบะหมี่ ใส่เนื้อหรือไก่ กินกับผักกาดดอง หอมแดงเป็นเครื่องเคียง






 แกงโฮะ    

          คำว่า โฮะ แปลว่า รวม แกงโฮะก็คือแกงที่นำเอาอาหารหลายอย่างมารวมกัน
สมัยก่อนแกงโฮะมักจะทำจากอาหารหลายอย่างที่เหลือจากงานบุญมาผัดรวมกัน
แต่ปัจจุบันใช้เครื่องปรุงใหม่ทำก็ได้หรือจะเป็นของที่ค้างคืนและนำมาปรุงใหม่อีกครั้งหนึ่ง
แกงโฮะเป็นอาหารที่นิยมแพร่หลายมีขายกันแทบทุกร้านอาหารพื้นเมืองในภาคเหนือ


                                      



 ขนมจีนน้ำเงี้ยว

          หรือขนมเส้นหมากเขือส้ม เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวไทใหญ่ เดิมใช้เส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นหลัก ต่อมาคนพื้นเมืองดัดแปลงมาใช้เส้นขนมจีนแทน กินกับถั่วงอก ผักกาดดอง  เพิ่มรสชาติความอร่อยยิ่งขึ้น






แกงฮังเล

          เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวไทใหญ่อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลมาจากอาหารพม่า ในอดีต เป็นแกงที่ทำได้ง่าย ใส่พริกแห้ง ผงแกงฮังเล มะเขือเทศ และเนื้อ แล้วนำมาผัดรวมกัน




                                                                         

น้ำพริกอ่อง

          เป็นน้ำพริกขึ้นชื่อของภาคเหนือ ลักษณะเด่นของน้ำพริกอ่องคือ มีสีส้มของมะเขือเทศและพริกแห้ง การกินน้ำพริกอ่องต้องมีผักจิ้ม เช่น มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว แตงกวา



                                               
          อาหารทุกชนิดจะรับประทานร่วมกับข้าวเหนียวหรือข้าวนึ่งใส่ในกระติ๊บข้าว อาหารอื่น ๆ
ใส่ในถ้วย อาหารทั้งหมดจะนำไปวางบนขันโตก ซึ่งเป็นภาชนะใส่อาหารที่ทำจากไม้สักกลึงให้ได้รูป
ขนาดพอดีกับการนั่งรับประทานบนพื้นบ้าน

#### อ้างอิงจาก
https://sites.google.com/site/xaharpracachatithiy/xahar-phun-ban-phakh-henux

Monday, February 22, 2016

ประเพณี อำเภอแม่อาย

ประเพณี  อำเภอแม่อาย


ประเพณีกินวอ




          ตำบลท่าตอน  เป็นตำบลเล็กๆที่มีภูเขาล้อมรอบ มีลำน้ำกกไหลผ่าน มีทัศนีย์ภาพที่สวยงาม และยังเป็นตำบลที่มีชนเผ่าอาศัยอยู่มากมายหลายเผ่า จึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลายและมีความน่าสนใจ เป็นอย่างยิ่ง

ประเพณีกินวอ  หรือขึ้นปีใหม่ ของชนเผ่าลาหู่ ถือว่าเป็นเทศกาลแห่งความสุขของชาวลาหู่เพราะจะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนานโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนจะมีการเต้น “จะคึ” ซึ่งเป็นการเต้นที่เป็นเอกลักษณ์และหาชมได้ยาก  งานจะจัดขึ้นเป็นเวลา 7 วันโดยแบ่งออกเป็นวันปีใหม่ของผู้หญิง 4 วันและวันของผู้ชาย 3 วันประเพณี จะถูกจัดขึ้นในช่วงเดือน มกราคม ของทุกปี ณ หมู่บ้านชนเผ่าลาหู่ ที่อยู่ในพื้นที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ประเพณีผูกข้อมือ



          เป็นประเพณีของชนเผ่ากะเหรี่ยง ตามความเชื่อถือที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา ด้วยความที่เชื่อว่าในร่างกายของคนเรามีอยู่ 33 ขวัญ เช่นขวัญศรีษะ ขวัญจะละทิ้งหรือหายไปก็ต่อเมื่อคนๆนั้นตายไป นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่าขวัญชอบที่จะหนีไปท่องเที่ยวตามความต้องการของมันเอง และอาจจะถูกผีร้ายต่างๆทำร้ายหรือกักขังไว้ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นล้มป่วย การรักษาพยาบาลช่วยเหลือคนเจ็บป่วยคือให้พ่อหมอผีประจำหมู่บ้านเรียกขวัญให้กลับมาสู่บุคคลที่เจ็บป่วยพร้อมกับทำพิธีผูกข้อมือรับขวัญเซ่นไหว้ผีด้วยไก่,หมูสีดำ,เหล้าป่า งานประเพณีผูกข้อมือจัดขึ้นทุกปีในเดือนกุมภาพันธ์ ณ หมู่ 9 บ้านเมืองงาม ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ประเพณียกย่องครูหมอไตย

         วันยกย่องครูหมอไตหรือ(วันไหว้ครู)จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้รำลึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นนักประพันธ์ หรือนักกวี ที่มีชื่อเสียงทั้งหลายของชาวไต ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว  ภายในงานจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ที่หาชมได้ยาก เช่นการฟ้อนกิงกะหล่า ฟ้อนโต   ประเพณียกย่องครูหมอไตยจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ที่ วัดใหม่หมอกจ๋าม หมู่ 8 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ประเพณีสงกรานต์



          ตำบลท่าตอนเป็นตำบลที่มีลำน้ำกกไหลผ่านไปยังจังหวัดเชียงราย  ทุกวันที่13-15 เดือนเมษายนของทุกปีถือว่าเป็นประเพณีสงกรานต์   และทางตำบลท่าตอนได้จัดงานประเพณีสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีที่สำคัญของคนไทย ในช่วงเวลานั้นปริมาณน้ำในลำน้ำกกบางแห่งจะลดลงจนเป็นหาดทราย ซึ่งเหมาะแก่การพักผ่อนและเล่นน้ำเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่าตอนจัดขึ้น เช่นการประกวดนางสงกรานต์ซึ่งมีความแปลกใหม่ต่างจากที่อื่นคือ ผู้ที่เข้าประกวดต้องล่องเพมายังเวทีการประกวด การเดินขบวนของแต่ละหมู่บ้าน การแสดงศิลปะพื้นบ้าน  การชกมวยและมวยทะเล  การแข่งขันชักคะเย่อในน้ำ    ขึ้นเสาน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งสร้างความสนุกสนานให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมเป็นอย่างมาก งานประเพณีสงกรานต์ของตำบลท่าตอนนี้ จะจัดขึ้น ณ บริเวณหาดทรายริมน้ำกกของบ้านท่าตอน

ประเพณีบวชลูกแก้ว(ปอยส่างลอง)



          ปอยบวชลูกแก้ว (ปอยส่างลอง)เป็นประเพณีบวชเณรตามความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและมีความเชื่อว่าจะได้รับบุญกุศลจากการบวชสามเณร พิธีกรรมจะมีการจัดอย่างใหญ่โตโดยแบ่งงานออกเป็น 3 วันคือ

วันแรก เรียกว่าวันแต่งดาในตอนเช้านำเด็กที่โกนหัวแล้วไปแต่งชุดลูกแก้วคล้ายเจ้าชายไทยใหญ่ รับศีล หลังจากนั้นนำลูกแก้วแห่ขอขมาศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ขอขมาพระสงฆ์ที่วัดและญาติผู้ใหญ่ ผู้ที่เคารพรักใคร่ชอบพอตลอดทั้งวันและนำลูกแก้วกลับไปรับประทานอาหารพักผ่อนที่บ้านเจ้าภาพ

วันที่สอง เป็นวันแห่เครื่องไทยทานทำในตอนเช้ามีขบวนแห่เครื่องไทยทานและลูกแก้วไปที่วัด มีการเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมขบวนแห่ และมีการทำขวัญลูกแก้ว เลี้ยงอาหารมื้อพิเศษมีอาหาร ๑๒ อย่าง แก่ลูกแก้วด้วย

วันที่สาม เป็นวันบรรพชาสามเณร ตอนบ่ายแก่แห่ลูกแก้วไปที่วัดและทำพิธีบรรพชา และอาจมีจุดบั้งไฟเป็นการเฉลิมฉลองด้วย

ประเพณีปอยบวชลูกแก้วลองจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนเมษายน หรือเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ณ วัดท่าตอนพระอารามหลวง

ประเพณีโล้ชิงช้า



         ประเพณีโล้ชิงช้าหรือที่อาข่าเรียกว่า “แย้ขู่อาเผ่ว” เป็นประเพณีรื่นเริงที่สำคัญมากประเพณีหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึง พระคุณแห่งเทพธิดา “อึ่มซาแยะ” ผู้ประทานความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกด้วย ซึ่งประเพณีนี้จะมีการจัดขึ้นทุกปี ประมาณ ปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ผู้หญิงอาข่า จะมีการแต่งกายอย่างสวยงาม จากเสื้อผ้าที่ได้เตรียมตลอดทั้งปี มาสวมใส่เป็นกรณีพิเศษในช่วงประเพณีนี้ พิธีกรรมจะถูกจัดขึ้นทั้งหมด 4 วัน

         วันแรก เป็นพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ผู้หญิงจะไปตักน้ำบริสุทธิ์ที่แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน เพื่อนำไปแช่ข้าวเหนียวไว้ตำเพื่อเป็นอาหารเส้นไหว้บูชาที่เรียกว่า “ ข้าวปุก”

         วันที่สอง วันเริ่มปลูกสร้างชิงช้า วันนี้จะไม่มีการฆ่าสัตว์ใด หนุ่มสาวจะรวมกลุ่มกันร้องเพลงอย่างสนุกสนาน

วันที่สาม เป็นวันฉลองต้อนรับปีใหม่ซึ่งถือว่าเป็นพิธีใหญ่ มีการฆ่าหมู ไก่ และนำสุรามาเลี้ยงกันทั้งหมู่บ้าน และแขกที่มาร่วมงาน

        วันที่สี่ เป็นวันสุดท้ายของพิธีกรรม หนุ่มสาวและเด็กจะร่วมกันโล้ชิงช้ากันทั้งวัน ประเพณีโล้ชิงช้านี้จะจัดขึ้นที่บ้านห้วยศาลา อำเภอท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่



ประเพณีลอยพระอุปคุต



          ลอยพระอุปคุตนั้นเป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ ในอำเภอแม่อาย จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ตามความเชื่อของล้านนาและชาวไทยใหญ่เชื่อว่าพระอุปคุตนั้นสิงสถิตอยู่ที่ ใต้แม่น้ำ หรือสะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มากมาย การลอยพระอุปคุตนั้นก็คือการบูชาท่าน เพราะท่านชอบอยู่ใต้น้ำจึงต้องลอยน้ำบูชาท่าน ถือกันว่า พระอุปคุตนั้นมีอยู่ 8 องค์นิพพานไปแล้ว 4 องค์ ที่ยังเหลืออยู่ 4 องค์ ดังนั้นการลอยบูชาท่านจึงจัดให้มี 8 องค์ พิธีการ จะมีการสร้างพระอุปคุตด้วยไม้ ขึ้น 8 องค์ ใส่ในมณฑปที่สร้างขึ้นสำหรับแต่ละองค์เริ่มพิธีบูชาตั้งแต่ ขึ้น 14 ค่ำ และในวันขึ้น 15 ค่ำ โดยขบวนแห่พระอุปคุตจะเริ่มตั้งแต่วัดแม่อายหลวง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วจึงทำพิธีลอยในแม่น้ำกก ณ ท่าเรือบ้านท่าตอน หมู่ 3 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่



ประเพณีลอยปอยเทียน

          ชาวไทยใหญ่ที่มีความเชื่อหลังจากออกพรรษาแล้ว จะต้องแห่ต้นเทียน พร้อมสิ่งของเพื่อนำไปถวายแด่พระสงฆ์ โดยเชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จลงมาในช่วงนี้ และเป็นกุสโลบายของผู้ใหญ่ที่ต้องการให้ลูกหลานได้มาพบกันและได้ทำบุญร่วมกัน  ในวันนั้นชาวบ้านจะไปหาต้นสนมาผ่าเป็นชิ้นเล็กๆ นำมามัดรวมกันเป็นต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ 2.5-3 เมตร แล้วแห่ไปถวายวัดด้วย พร้อมกับจุดไฟต้นสน เพื่อเป็นพุทธบูชาสร้างนิมิตหมายและความเป็นศิริมงคลให้แก่ชีวิตที่โชติช่วง หญิงและชายจะแต่งกายในชุดของชาวไทยใหญ่อย่างสวยงาม มีวงดนตรีพื้นบ้านแห่นำหน้า พร้อมกับจุดเทียนส่องสว่างเดินไปยังวัด ประเพณีนี้จะถูกจัดขึ้นในช่วงหลังวันออกพรรษา  ณ วัดใหม่หมอกจ๋าม หมู่8 บ้านใหม่หมอกจ๋าม



ประเพณีลอยกระทง







ประเพณีลอยกระทงตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ตำบลท่าตอนเป็นตำบลที่มีแม่น้ำกกไหลผ่าน แม่น้ำกกจึงเป็นสายน้ำที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งในการเกษตร อุปโภค บริโภค ดังนั้น เมื่อถึง 15 ค่ำ เดือน 12 ประชาชนในพื้นที่ก็จะนำกระทงมาลอยเพื่อเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ซึ่งทางตำบลท่าตอนก็ได้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี และมีกิจกรรมมากมายเช่น การประกวดนางนพมาศ การแสดงศิลปะพื้นบ้าน การประกวดกระทงใหญ่ การจุดพลุดอกไม้ไฟ งานจัดขึ้น ณ บริเวณท่าเรือบ้านท่าตอน หมู่ 3 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่




####  อ้างอิง  http://www.sri.cmu.ac.th/~localdevelop/index.php?option=com_content&view=article&id=156%3A2010-12-03-09-26-21&catid=89%3A2010-12-02-03-02-50&limitstart=2

แหล่งท่องเที่ยว

วัดท่าตอน 


ประวัติวัดท่าตอน 
          
          ปัจจุบัน วัดท่าตอนเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2534 ตั้งอยู่บนยอดเขาต่อเนื่องหลายลูก บนเนื้อที่ 425 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา แยกเป็นพื้นที่ตั้งวัดชั้นล่าง 45 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา และเป็นเขตอุทยานพุทธศาสนาและสำนักปฏิบัติธรรม 380 ไร่ 67 ตารางวา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชัน มีที่ราบริมแม่น้ำกก บริเวณหน้า มหาโพธิสัตว์กวนอิม และบริเวณลานวัด ซึ่งพระเจดีย์ประดิษฐานอยู่ เขตวัดทิศเหนือ จดแม่น้ำกก และไร่นาของชาวบ้าน ทิศตะวันออกและทิศใต้ จดเขตบ้านหลายหลัง และทิศตะวันตกจดป่าสงวนแห่งชาติ 


เจ้าอวาส  วัดท่าตอน  พระเทพมังคลาจารย์ พ.ศ. 2517 - ปัจจุบัน 

ประวัติความเป็นมาในอดีต
          
          วัดท่าตอน เป็นวัดร้างมานานหลายร้อยปี มีพระเจดีย์เก่าชำรุดอยู่หนึ่งองค์ ล้อมรอบด้วยป่าหนาทึบ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด ตามตำนานสุวรรณดำแดงกล่าวว่า กลุ่มคนไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ตอนกลางของเชียงใหม่ ประมาณหลังปี พ.ศ. 1700 นั้น เป็นผู้นับถือพุทธศาสนา นักประวัติศาสตร์หลายท่านได้มีความเห็นว่า บริเวณลุ่มน้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำกก เป็นที่ตั้งของชุมชน ที่มีวัฒนธรรมอยู่มาก่อน ก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1839 ห่างจากวัดท่าตอนไปทางทิศตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองเก่า ชื่อ เวียงแข่ ยังคงมีคูเมืองปรากฏอยู่ เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยใดนั้น ไม่เป็นที่ปรากฏหลักฐาน จากการค้นคว้าคำจารึกในฐานพระพุทธรูปเก่าที่สุดที่พบในเขตอำเภอแม่อาย (วัดศรีบุญเรือง) จุลศักราช 221 (พ.ศ. 1403 ) พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์โบราณที่พบตามวัดร้างในท้องนาและริมแม่น้ำฝาง ซึ่งวัดต่างๆ ในท้องที่เก็บรักษาไว้ บางส่วนขนย้ายไปจังหวัดเชียงราย (วัดมุงเมือง) และส่วนกลาง ( พ.ศ. 2424 คาร์ล บ็อค มาสำรวจเมืองฝางขนไปบ้าง ) แสดงให้เห็นถึงร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่ผ่านมาหลายศตวรรษของถิ่นนี้ในอดีต แม้ในจุลศักราช 636 (พ.ศ. 1818) พระยามังรายเสด็จมาเสวยราชสมบัติในเมืองฝาง ก็มิได้ปรากฏว่าพระองค์สร้างเมืองขึ้นใหม่ ฝางและอำเภอใกล้เคียง (เวียงไชย เวียงแข่ เมืองงาม เป็นต้น) คงเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนแล้ว ในตำนานเมืองเหนือ กล่าวว่า " อันเมืองฝางนั้น เป็นเมืองที่สร้างมาแต่โบราณกาลแล้ว หากจะพูดตามตำนาน ก็สร้างมาแต่สมัยพระเจ้าลวะจังกราชปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ลาวจก และต่อมาในสมัยพระเจ้ามังราย บ้านเมืองเดิมก็คงชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ด้วยเป็นที่อุดมสมบูรณ์ พระเจ้ามังรายจึงได้บูรณะขึ้นอีกครั้งหนึ่ง " ฯ จากการสำรวจโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุของกรมศิลปากร พบว่า พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์โบราณ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดท่าตอน (ศาลาพุทธบุตรประชาสรรค์) ปางมารวิชัยประทับนั่ง 5 องค์ ปางประทับยืน 3 องค์ เป็นศิลปล้านนา เป็นพุทธศิลป์ซึ่งทรงคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ มีอายุ 500-700 ปี มีคำจารึกที่ฐานพระพุทธรูป 2 องค์ ปางมารวิชัย ประทับนั่งองค์เล็กสุด (พระฝนแสนห่า) สร้างเมื่อจุลศักราช 910 (พ.ศ. 2092) ปางประทับยืนอุ้มบาตร บอกแต่เพียงชื่อผู้นำสร้าง และผู้ร่วมทำบุญ ไม่บอกศักราช ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า วัดท่าตอน ได้สร้างมาแล้วเป็นเวลาช้านานหลายร้อยปี อาจสร้างในสมัยเดียวกับที่พระเจ้าพรหมมหาราชทรงสร้างพระธาตุสบฝาง ( ประมาณหลัง พ.ศ. 1483 ) เพราะอยู่ไม่ห่างกัน (ประมาณ 5 กิโลเมตร) และตั้งอยู่บนยอดเขา ริมแม่น้ำกกเช่นเดียวกัน อีกทั้งจารึกในฐานพระพุทธรูปวัดศรีบุญเรือง ซึ่งนำมาจากวัดร้างในท้องนาบริเวณไม่ห่างจากท่าตอน ก็ใกล้เคียงสมัยพระเจ้าพรหมมหาราชมาก 






สะพานท่าตอน

####  อ้างอิง   http://www.watthaton.org/main/2012-02-19-06-50-32.html

สวนส้มธนาธร




          สวนส้มธนาธร 8 เพราะปลูกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2535 ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ในสถานที่ที่เป็นเนินเตี้ย ๆ แวดล้อมด้วยทิวทัศน์ที่สวยงาม เมื่อมองจากศาลาชมวิวจะสามารถมองเห็นสายน้ำกก ที่ลัดเลาะพื้น ที่ราบลุ่ม ซึ่งเหมาะแก่การชมวิวและเก็บภาพประทับใจเป็นอย่างยิ่ง สวนท่าตอนที่เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 450 ไร่ เพราะปลูกส้ม 2 สายพันธ์ ได้แก่ส้มสายน้ำผึ้งและโอเชี่ยนฮันนี่ไร้เมล็ด สวนธนาธร 8 มีกิจกรรม หลากหลายให้นักท่องเที่ยวได้แก่ การชมวิวรอบสวนด้วยรถเรือ และเลือกเก็บส้มด้วยตัวคุณเอง




        ก่อตั้งโดยคุณบัณฑูร จิระวัฒนากูล สวนส้มธนากรนัมเบอร์ 1 สายน้ำผึ้ง ส้มฟรีมองต์ ส้มโอเชี่ยนฮันนี่ไร้เมล็ด ส้มผิวทอง ที่สลับกันออกผลตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ประกอบด้วย 2 สวนคือ สวนส้มธนาธร 2 (บ้านลาน) เริ่มเพาะปลูกใน พ.ศ. 2527 ในพื้นที่อำเภอฝาง บนพื้นที่กว่า 700 ไร่ โอบล้อมด้วยธรรมชาติขุนเขา และวิวทิวทัศน์ที่งดงามของสวนส้มที่ออกผล ให้ความรู้ในเรื่องการปลูกส้มแก่ผู้ที่สนใจ ชมวิธีการปลูกมีผักไฮโดรโพนิกส์ ชิมผักสลัดสด และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สดใหม่จากสวน ทางสวนมีบริการรถเรือและรถกอล์ฟนำชมพื้นที่ค่าบริการ 30 บาท/คน

สวนธนาธร 8 หรือสวนท่าตอน เพาะปลูกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2535 ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย บนพื้นที่ประมาณ 450 ไร่ เพาะปลูกส้ม 2 สายพันธุ์ ได้แก่ส้มสายน้ำผึ้งและโอเชี่ยนฮันนี่ไร้เมล็ด พื้นที่เป็นเนินเขามีจุดชมวิวมองเห็นแม่น้ำกก สามารถนั่งรถเรือชมทิวทัศน์ภายในสวนและเลือกเก็บส้มสด ๆ จากต้น เลือกซื้อของฝากจากร้านขายของที่ระลึก อาทิ ส้มสดจากสวน เทียนหอม กระเป๋า เป็นต้น

เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. +66 5334 6554-6, +66 5388 3392-7, +66 5388 3420-2 โทรสาร +66 5334 6598, +66 5388 3833 หรือ www.tntorchard.com
การเดินทาง
รถยนต์ ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ผ่านอำเภอแม่ริม แม่แตง เชียงดาว ไชยปราการ ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร
รถประจำทาง เชียงใหม่-ฝางออกจากสถานีขนส่งช้างเผือก







จุดเด่นของที่นี่

- ไร่ส้มหลากหลายสายพันธุ์
- อากาศสดชื่น เย็นสบาย
- มองเห็นวิวทิวทัศน์ของ อช.ดอยผ้าห่มปก ได้ชัดเจน
- มีรถนำชม
- ส้มคาราเมนติน ส้มลูกเล็กๆ รสชาติอมหวาน ทานได้ทั้งเปลือก
- ส้มธนาธร Number 1  สีเหลือง ลูกใหญ่ เปลือกหนา คล้ายส้มเช้ง หวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม น้ำเยอะ

#### อ้างอิง  http://banmuangnuea.com/tourist-places/thanathon-orchard/

ประวัติ

1. ประวัติความเป็นมา      
       
          อำเภอแม่อายตั้งอยู่ในบริเวณเมืองโบราณที่ชื่อ เวียงมะลิกา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ตำบลแม่อาย ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่อาย 2 กิโลเมตร มีทางแยกออก จากทางหลวงแผ่นดินสายฝาง-ท่าตอน กิโลเมตรที่ 16.50 เป็นทางดินอัดแน่นระยะทาง 200 เมตร มีคูเมืองและซากอิฐกำแพงดินเป็นที่สังเกตได้ราษฏร ถือว่าเป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ ตำนานเวียงมะลิกา เขียนว่า เจ้าแม่มะลิกา เป็นราชบุตรี ในพระเจ้าฝางและพระนางสามผิว (พระนางสามผิว มีพระฉวีวรรณงดงามในตอนเช้า มีพระฉวีวรรณผุดผ่องดุจดอกมะลิ ในเวลาเที่ยงวันพระฉวีวรรณ เปลี่ยนเป็นสีแดงดอกกุหลาบ ต่อมาเวลาเย็นพระฉวีวรรณจะเปลี่ยนแปลงเป็นสีชมพูดุจ ดอกบัวจงกลนี จึงได้พระนามว่า "พระนางสามผิว" พระนางสามผิว มีพระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ ทรงสักการะบูชาทุกค่ำเช้า วันหนึ่งมี่ขุ่นเคืองพระทัยด้วยเรื่อง พระสนมเอกของพระเจ้าฝาง เมื่อถึงเวลาถวายเทียนสักการะบูชาพระพุทธปฏิมาแต่พระองค์ยังมิอาจดับพระทัยที่ขุ่นเคืองได้ ขณะที่จุดเทียนถวายสักการะ บูชาพระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์ และทรงละเลยไว้ด้วยความประมาท เทียนที่จุดไว้ล้มลงเผาไหมพระโอษฐ์พระพุทธปฏิมา รุ่งขึ้นเวลาเช้าเมื่อพระนางเจ้า เสด็จออกจากที่บรรทมทรงทราบว่าเทียนล้มลงเผาไหม้พระโอษฐ์พระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์ก็ทรงสำนึกความบาปที่กระทำด้วยความประมาท ครั้นกาลต่อมา พระครรภ์ครบกำหนดทศมาส ประสูติพระราชธิดาผู้ทรงโฉมศิริโสภาคพระฉวีวรรณผุดผ่องแม้นเหมือนพระมารดา แต่ก็มีตำหนิที่ควรสมเพชที่พระธิดา มีริมพระโอษฐ์ล่างแหว่งไป

          เมื่อราชบุตรีทรงวุฒิจำเริญขึ้น พระเจ้าฝางทรงเกรงเป็นที่ละอายแก่ไพร่ฟ้าพลเมืองจึงทรงสร้างสวนหลวงขึ้นทางทิศเหนีอเวียงสุโท (ใกล้กับ เมืองฝาง) และสร้างคุ้มหลวง ประกอบด้วย คู และปราการ ล้อมรอบประทานราชบุตรี ให้เป็นที่ประทับสำราญ สวนหลวงแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "เวียงมะลิกา" เชื่อว่า เวียงมะลิกาไม่มีบุรุษเพศเลย ผู้คนล้วนแต่สตรีเพศพระแม่เจ้าทรงฝึกฝนสตรีผู้กำยำเป็นทะแกล้วคนหาญของเวียงมะลิกา จนเป็นที่ลือชา ปรากฏว่าเวียงมะลิกามีคนหาญการธนูที่แกร่งกล้ายิงแม่นนัก

          กาลต่อมามีราชบุตรของเจ้าผู้ครองเวียงภูก่ำ (แคว้นไตใหญ่) ได้สดับข่าวเกี่ยวกับพระเจ้าแม่มะลิกา แรงแห่งบุพเพสันนิวาสเกิดขึ้นในราชบุตร พระราชบุตรได้ทรงอ้อนวอนพระเจ้าภูก่ำ ขอเสด็จไปเวียงมะลิกาเยี่ยงสามัญชนคนค้าขาย พระเจ้าภูก่ำทรงอนุยาต แล้วดำรัสสั่งอำมาตย์คนสนิท ให้ ตระเตรียมม้าต่างอัญมณีเป็นสินค้าโดยเสด็จพระราชบุตร ข่าวการเสด็จฯของพระราชบุตรทราบถึงเจ้าแม่มะลิกา พระองค์ก็เกิดอางขนางในวันที่พระราช บุตรกำหนดเข้าเฝ้าถวาย อัญมณีแม่เจ้าก็เสด็จหลีกลี้ไปสรงสนานน้ำห้วยและแต่งให้พระพี่เลี้ยงนางเหลี่ยวอยู่เวียงมะลิการับเสด็จพระราชบุตร เมื่อพระราช บุตรในรูปของพ่อค้านายวาณิชเข้าเฝ้า พระพี่เลี้ยงก็กล่าวว่าแม่เจ้าไม่ทรงปรารถนาพบเห็นชายใด ๆ และไม่ต้องประสงค์ในการได้ยินเรื่องเช่นนี้ พ่อค้า จำแลงก็ลากลับเวียงภูก่ำด้วยความโทมนัส ขณะที่พระนางมะลิกาสรงสนานอยู่ น้ำในลำห้วยก็กลายเป็นสีเลือดด้วยละอายพระทัยคนทั้งหลายจึงเรียกน้ำห้วย นั้นว่า "แม่อาย" จึงได้ชื่อตำบลนี้ว่า "แม่อาย"


          อำเภอแม่อาย เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้นกับอำเภอฝาง ซึ่งทางราชการได้แยกตำบลแม่อาย ตำบลแม่สาว และตำบลแม่นาวาง ออกจากอำเภอฝาง ยกฐานะ ให้เป็นกิ่ง ให้นามว่ากิ่งอำเภอแม่อายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2510 และเวลาต่อมาอีก 6 ปี ได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอแม่อาย ขึ้นเป็นอำเภอแม่อาย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2516

          อำเภอแม่อายอยู่ห่างจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ ไปทางทิศเหนือประมาณ 175 กิโลเมตร อำเภอแม่อายมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และ วัฒนธรรมที่สำคัญเช่น พระธาตุสบฝาง พระธาตุดอยน้ำค้าง พระธาตุปูแช่ อนุสาวรีย์เจ้าแม่มะลิกา
อ.แม่อาย  จ.เชียงใหม่  อยู่ทางทิศเหนือตอนบนของประเทศไทย  ติดพรมแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศพม่า ที่ว่าการอำเภอแม่อาย และศูนย์ราชการอำเภอแม่อาย  อยู่ที่บ้านปู่แช่ใหม่ ม.4 ต.แม่อาย บนถนนสายฝาง – ท่าตอน  (ทางหลวงหมายเลข 1098 กิโลเมตรที่ 19 ) ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือ 173  กม. ไปตามถนนสายเชียงใหม่ – ฝาง  151  กม.  (ทางหลวงหมายเลข  107 ) และตามถนนฝาง – ท่าตอน (ทางหลวงหมายเลข 1098)

2. เนื้อที่/พื้นที่



736.701 ตร.กม.

3. สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป
          อากาศเย็นสบายมีอุณหภูมิเฉลี่ย ประมาณ 20 องศาเซลเซียส ในฤดูหนาว จะหนาวจัด มีหมอกปกคลุม พื้นที่อุณหภูมิเคยต่ำสุดถึง 2 องศา ส่วนฤดูร้อน อุณหภูมิ 34 องศา ฤดูฝนปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,200 - 1,400 มม. 

####  อ้างอิง  http://www.amphoe.com/menu.php?mid=1&am=155&pv=13