Monday, February 22, 2016

ประเพณี อำเภอแม่อาย

ประเพณี  อำเภอแม่อาย


ประเพณีกินวอ




          ตำบลท่าตอน  เป็นตำบลเล็กๆที่มีภูเขาล้อมรอบ มีลำน้ำกกไหลผ่าน มีทัศนีย์ภาพที่สวยงาม และยังเป็นตำบลที่มีชนเผ่าอาศัยอยู่มากมายหลายเผ่า จึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลายและมีความน่าสนใจ เป็นอย่างยิ่ง

ประเพณีกินวอ  หรือขึ้นปีใหม่ ของชนเผ่าลาหู่ ถือว่าเป็นเทศกาลแห่งความสุขของชาวลาหู่เพราะจะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนานโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนจะมีการเต้น “จะคึ” ซึ่งเป็นการเต้นที่เป็นเอกลักษณ์และหาชมได้ยาก  งานจะจัดขึ้นเป็นเวลา 7 วันโดยแบ่งออกเป็นวันปีใหม่ของผู้หญิง 4 วันและวันของผู้ชาย 3 วันประเพณี จะถูกจัดขึ้นในช่วงเดือน มกราคม ของทุกปี ณ หมู่บ้านชนเผ่าลาหู่ ที่อยู่ในพื้นที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ประเพณีผูกข้อมือ



          เป็นประเพณีของชนเผ่ากะเหรี่ยง ตามความเชื่อถือที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา ด้วยความที่เชื่อว่าในร่างกายของคนเรามีอยู่ 33 ขวัญ เช่นขวัญศรีษะ ขวัญจะละทิ้งหรือหายไปก็ต่อเมื่อคนๆนั้นตายไป นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่าขวัญชอบที่จะหนีไปท่องเที่ยวตามความต้องการของมันเอง และอาจจะถูกผีร้ายต่างๆทำร้ายหรือกักขังไว้ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นล้มป่วย การรักษาพยาบาลช่วยเหลือคนเจ็บป่วยคือให้พ่อหมอผีประจำหมู่บ้านเรียกขวัญให้กลับมาสู่บุคคลที่เจ็บป่วยพร้อมกับทำพิธีผูกข้อมือรับขวัญเซ่นไหว้ผีด้วยไก่,หมูสีดำ,เหล้าป่า งานประเพณีผูกข้อมือจัดขึ้นทุกปีในเดือนกุมภาพันธ์ ณ หมู่ 9 บ้านเมืองงาม ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ประเพณียกย่องครูหมอไตย

         วันยกย่องครูหมอไตหรือ(วันไหว้ครู)จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้รำลึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นนักประพันธ์ หรือนักกวี ที่มีชื่อเสียงทั้งหลายของชาวไต ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว  ภายในงานจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ที่หาชมได้ยาก เช่นการฟ้อนกิงกะหล่า ฟ้อนโต   ประเพณียกย่องครูหมอไตยจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ที่ วัดใหม่หมอกจ๋าม หมู่ 8 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ประเพณีสงกรานต์



          ตำบลท่าตอนเป็นตำบลที่มีลำน้ำกกไหลผ่านไปยังจังหวัดเชียงราย  ทุกวันที่13-15 เดือนเมษายนของทุกปีถือว่าเป็นประเพณีสงกรานต์   และทางตำบลท่าตอนได้จัดงานประเพณีสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีที่สำคัญของคนไทย ในช่วงเวลานั้นปริมาณน้ำในลำน้ำกกบางแห่งจะลดลงจนเป็นหาดทราย ซึ่งเหมาะแก่การพักผ่อนและเล่นน้ำเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่าตอนจัดขึ้น เช่นการประกวดนางสงกรานต์ซึ่งมีความแปลกใหม่ต่างจากที่อื่นคือ ผู้ที่เข้าประกวดต้องล่องเพมายังเวทีการประกวด การเดินขบวนของแต่ละหมู่บ้าน การแสดงศิลปะพื้นบ้าน  การชกมวยและมวยทะเล  การแข่งขันชักคะเย่อในน้ำ    ขึ้นเสาน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งสร้างความสนุกสนานให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมเป็นอย่างมาก งานประเพณีสงกรานต์ของตำบลท่าตอนนี้ จะจัดขึ้น ณ บริเวณหาดทรายริมน้ำกกของบ้านท่าตอน

ประเพณีบวชลูกแก้ว(ปอยส่างลอง)



          ปอยบวชลูกแก้ว (ปอยส่างลอง)เป็นประเพณีบวชเณรตามความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและมีความเชื่อว่าจะได้รับบุญกุศลจากการบวชสามเณร พิธีกรรมจะมีการจัดอย่างใหญ่โตโดยแบ่งงานออกเป็น 3 วันคือ

วันแรก เรียกว่าวันแต่งดาในตอนเช้านำเด็กที่โกนหัวแล้วไปแต่งชุดลูกแก้วคล้ายเจ้าชายไทยใหญ่ รับศีล หลังจากนั้นนำลูกแก้วแห่ขอขมาศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ขอขมาพระสงฆ์ที่วัดและญาติผู้ใหญ่ ผู้ที่เคารพรักใคร่ชอบพอตลอดทั้งวันและนำลูกแก้วกลับไปรับประทานอาหารพักผ่อนที่บ้านเจ้าภาพ

วันที่สอง เป็นวันแห่เครื่องไทยทานทำในตอนเช้ามีขบวนแห่เครื่องไทยทานและลูกแก้วไปที่วัด มีการเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมขบวนแห่ และมีการทำขวัญลูกแก้ว เลี้ยงอาหารมื้อพิเศษมีอาหาร ๑๒ อย่าง แก่ลูกแก้วด้วย

วันที่สาม เป็นวันบรรพชาสามเณร ตอนบ่ายแก่แห่ลูกแก้วไปที่วัดและทำพิธีบรรพชา และอาจมีจุดบั้งไฟเป็นการเฉลิมฉลองด้วย

ประเพณีปอยบวชลูกแก้วลองจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนเมษายน หรือเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ณ วัดท่าตอนพระอารามหลวง

ประเพณีโล้ชิงช้า



         ประเพณีโล้ชิงช้าหรือที่อาข่าเรียกว่า “แย้ขู่อาเผ่ว” เป็นประเพณีรื่นเริงที่สำคัญมากประเพณีหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึง พระคุณแห่งเทพธิดา “อึ่มซาแยะ” ผู้ประทานความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกด้วย ซึ่งประเพณีนี้จะมีการจัดขึ้นทุกปี ประมาณ ปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ผู้หญิงอาข่า จะมีการแต่งกายอย่างสวยงาม จากเสื้อผ้าที่ได้เตรียมตลอดทั้งปี มาสวมใส่เป็นกรณีพิเศษในช่วงประเพณีนี้ พิธีกรรมจะถูกจัดขึ้นทั้งหมด 4 วัน

         วันแรก เป็นพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ผู้หญิงจะไปตักน้ำบริสุทธิ์ที่แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน เพื่อนำไปแช่ข้าวเหนียวไว้ตำเพื่อเป็นอาหารเส้นไหว้บูชาที่เรียกว่า “ ข้าวปุก”

         วันที่สอง วันเริ่มปลูกสร้างชิงช้า วันนี้จะไม่มีการฆ่าสัตว์ใด หนุ่มสาวจะรวมกลุ่มกันร้องเพลงอย่างสนุกสนาน

วันที่สาม เป็นวันฉลองต้อนรับปีใหม่ซึ่งถือว่าเป็นพิธีใหญ่ มีการฆ่าหมู ไก่ และนำสุรามาเลี้ยงกันทั้งหมู่บ้าน และแขกที่มาร่วมงาน

        วันที่สี่ เป็นวันสุดท้ายของพิธีกรรม หนุ่มสาวและเด็กจะร่วมกันโล้ชิงช้ากันทั้งวัน ประเพณีโล้ชิงช้านี้จะจัดขึ้นที่บ้านห้วยศาลา อำเภอท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่



ประเพณีลอยพระอุปคุต



          ลอยพระอุปคุตนั้นเป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ ในอำเภอแม่อาย จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ตามความเชื่อของล้านนาและชาวไทยใหญ่เชื่อว่าพระอุปคุตนั้นสิงสถิตอยู่ที่ ใต้แม่น้ำ หรือสะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มากมาย การลอยพระอุปคุตนั้นก็คือการบูชาท่าน เพราะท่านชอบอยู่ใต้น้ำจึงต้องลอยน้ำบูชาท่าน ถือกันว่า พระอุปคุตนั้นมีอยู่ 8 องค์นิพพานไปแล้ว 4 องค์ ที่ยังเหลืออยู่ 4 องค์ ดังนั้นการลอยบูชาท่านจึงจัดให้มี 8 องค์ พิธีการ จะมีการสร้างพระอุปคุตด้วยไม้ ขึ้น 8 องค์ ใส่ในมณฑปที่สร้างขึ้นสำหรับแต่ละองค์เริ่มพิธีบูชาตั้งแต่ ขึ้น 14 ค่ำ และในวันขึ้น 15 ค่ำ โดยขบวนแห่พระอุปคุตจะเริ่มตั้งแต่วัดแม่อายหลวง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วจึงทำพิธีลอยในแม่น้ำกก ณ ท่าเรือบ้านท่าตอน หมู่ 3 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่



ประเพณีลอยปอยเทียน

          ชาวไทยใหญ่ที่มีความเชื่อหลังจากออกพรรษาแล้ว จะต้องแห่ต้นเทียน พร้อมสิ่งของเพื่อนำไปถวายแด่พระสงฆ์ โดยเชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จลงมาในช่วงนี้ และเป็นกุสโลบายของผู้ใหญ่ที่ต้องการให้ลูกหลานได้มาพบกันและได้ทำบุญร่วมกัน  ในวันนั้นชาวบ้านจะไปหาต้นสนมาผ่าเป็นชิ้นเล็กๆ นำมามัดรวมกันเป็นต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ 2.5-3 เมตร แล้วแห่ไปถวายวัดด้วย พร้อมกับจุดไฟต้นสน เพื่อเป็นพุทธบูชาสร้างนิมิตหมายและความเป็นศิริมงคลให้แก่ชีวิตที่โชติช่วง หญิงและชายจะแต่งกายในชุดของชาวไทยใหญ่อย่างสวยงาม มีวงดนตรีพื้นบ้านแห่นำหน้า พร้อมกับจุดเทียนส่องสว่างเดินไปยังวัด ประเพณีนี้จะถูกจัดขึ้นในช่วงหลังวันออกพรรษา  ณ วัดใหม่หมอกจ๋าม หมู่8 บ้านใหม่หมอกจ๋าม



ประเพณีลอยกระทง







ประเพณีลอยกระทงตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ตำบลท่าตอนเป็นตำบลที่มีแม่น้ำกกไหลผ่าน แม่น้ำกกจึงเป็นสายน้ำที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งในการเกษตร อุปโภค บริโภค ดังนั้น เมื่อถึง 15 ค่ำ เดือน 12 ประชาชนในพื้นที่ก็จะนำกระทงมาลอยเพื่อเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ซึ่งทางตำบลท่าตอนก็ได้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี และมีกิจกรรมมากมายเช่น การประกวดนางนพมาศ การแสดงศิลปะพื้นบ้าน การประกวดกระทงใหญ่ การจุดพลุดอกไม้ไฟ งานจัดขึ้น ณ บริเวณท่าเรือบ้านท่าตอน หมู่ 3 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่




####  อ้างอิง  http://www.sri.cmu.ac.th/~localdevelop/index.php?option=com_content&view=article&id=156%3A2010-12-03-09-26-21&catid=89%3A2010-12-02-03-02-50&limitstart=2

แหล่งท่องเที่ยว

วัดท่าตอน 


ประวัติวัดท่าตอน 
          
          ปัจจุบัน วัดท่าตอนเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2534 ตั้งอยู่บนยอดเขาต่อเนื่องหลายลูก บนเนื้อที่ 425 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา แยกเป็นพื้นที่ตั้งวัดชั้นล่าง 45 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา และเป็นเขตอุทยานพุทธศาสนาและสำนักปฏิบัติธรรม 380 ไร่ 67 ตารางวา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชัน มีที่ราบริมแม่น้ำกก บริเวณหน้า มหาโพธิสัตว์กวนอิม และบริเวณลานวัด ซึ่งพระเจดีย์ประดิษฐานอยู่ เขตวัดทิศเหนือ จดแม่น้ำกก และไร่นาของชาวบ้าน ทิศตะวันออกและทิศใต้ จดเขตบ้านหลายหลัง และทิศตะวันตกจดป่าสงวนแห่งชาติ 


เจ้าอวาส  วัดท่าตอน  พระเทพมังคลาจารย์ พ.ศ. 2517 - ปัจจุบัน 

ประวัติความเป็นมาในอดีต
          
          วัดท่าตอน เป็นวัดร้างมานานหลายร้อยปี มีพระเจดีย์เก่าชำรุดอยู่หนึ่งองค์ ล้อมรอบด้วยป่าหนาทึบ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด ตามตำนานสุวรรณดำแดงกล่าวว่า กลุ่มคนไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ตอนกลางของเชียงใหม่ ประมาณหลังปี พ.ศ. 1700 นั้น เป็นผู้นับถือพุทธศาสนา นักประวัติศาสตร์หลายท่านได้มีความเห็นว่า บริเวณลุ่มน้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำกก เป็นที่ตั้งของชุมชน ที่มีวัฒนธรรมอยู่มาก่อน ก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1839 ห่างจากวัดท่าตอนไปทางทิศตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองเก่า ชื่อ เวียงแข่ ยังคงมีคูเมืองปรากฏอยู่ เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยใดนั้น ไม่เป็นที่ปรากฏหลักฐาน จากการค้นคว้าคำจารึกในฐานพระพุทธรูปเก่าที่สุดที่พบในเขตอำเภอแม่อาย (วัดศรีบุญเรือง) จุลศักราช 221 (พ.ศ. 1403 ) พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์โบราณที่พบตามวัดร้างในท้องนาและริมแม่น้ำฝาง ซึ่งวัดต่างๆ ในท้องที่เก็บรักษาไว้ บางส่วนขนย้ายไปจังหวัดเชียงราย (วัดมุงเมือง) และส่วนกลาง ( พ.ศ. 2424 คาร์ล บ็อค มาสำรวจเมืองฝางขนไปบ้าง ) แสดงให้เห็นถึงร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่ผ่านมาหลายศตวรรษของถิ่นนี้ในอดีต แม้ในจุลศักราช 636 (พ.ศ. 1818) พระยามังรายเสด็จมาเสวยราชสมบัติในเมืองฝาง ก็มิได้ปรากฏว่าพระองค์สร้างเมืองขึ้นใหม่ ฝางและอำเภอใกล้เคียง (เวียงไชย เวียงแข่ เมืองงาม เป็นต้น) คงเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนแล้ว ในตำนานเมืองเหนือ กล่าวว่า " อันเมืองฝางนั้น เป็นเมืองที่สร้างมาแต่โบราณกาลแล้ว หากจะพูดตามตำนาน ก็สร้างมาแต่สมัยพระเจ้าลวะจังกราชปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ลาวจก และต่อมาในสมัยพระเจ้ามังราย บ้านเมืองเดิมก็คงชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ด้วยเป็นที่อุดมสมบูรณ์ พระเจ้ามังรายจึงได้บูรณะขึ้นอีกครั้งหนึ่ง " ฯ จากการสำรวจโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุของกรมศิลปากร พบว่า พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์โบราณ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดท่าตอน (ศาลาพุทธบุตรประชาสรรค์) ปางมารวิชัยประทับนั่ง 5 องค์ ปางประทับยืน 3 องค์ เป็นศิลปล้านนา เป็นพุทธศิลป์ซึ่งทรงคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ มีอายุ 500-700 ปี มีคำจารึกที่ฐานพระพุทธรูป 2 องค์ ปางมารวิชัย ประทับนั่งองค์เล็กสุด (พระฝนแสนห่า) สร้างเมื่อจุลศักราช 910 (พ.ศ. 2092) ปางประทับยืนอุ้มบาตร บอกแต่เพียงชื่อผู้นำสร้าง และผู้ร่วมทำบุญ ไม่บอกศักราช ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า วัดท่าตอน ได้สร้างมาแล้วเป็นเวลาช้านานหลายร้อยปี อาจสร้างในสมัยเดียวกับที่พระเจ้าพรหมมหาราชทรงสร้างพระธาตุสบฝาง ( ประมาณหลัง พ.ศ. 1483 ) เพราะอยู่ไม่ห่างกัน (ประมาณ 5 กิโลเมตร) และตั้งอยู่บนยอดเขา ริมแม่น้ำกกเช่นเดียวกัน อีกทั้งจารึกในฐานพระพุทธรูปวัดศรีบุญเรือง ซึ่งนำมาจากวัดร้างในท้องนาบริเวณไม่ห่างจากท่าตอน ก็ใกล้เคียงสมัยพระเจ้าพรหมมหาราชมาก 






สะพานท่าตอน

####  อ้างอิง   http://www.watthaton.org/main/2012-02-19-06-50-32.html

สวนส้มธนาธร




          สวนส้มธนาธร 8 เพราะปลูกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2535 ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ในสถานที่ที่เป็นเนินเตี้ย ๆ แวดล้อมด้วยทิวทัศน์ที่สวยงาม เมื่อมองจากศาลาชมวิวจะสามารถมองเห็นสายน้ำกก ที่ลัดเลาะพื้น ที่ราบลุ่ม ซึ่งเหมาะแก่การชมวิวและเก็บภาพประทับใจเป็นอย่างยิ่ง สวนท่าตอนที่เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 450 ไร่ เพราะปลูกส้ม 2 สายพันธ์ ได้แก่ส้มสายน้ำผึ้งและโอเชี่ยนฮันนี่ไร้เมล็ด สวนธนาธร 8 มีกิจกรรม หลากหลายให้นักท่องเที่ยวได้แก่ การชมวิวรอบสวนด้วยรถเรือ และเลือกเก็บส้มด้วยตัวคุณเอง




        ก่อตั้งโดยคุณบัณฑูร จิระวัฒนากูล สวนส้มธนากรนัมเบอร์ 1 สายน้ำผึ้ง ส้มฟรีมองต์ ส้มโอเชี่ยนฮันนี่ไร้เมล็ด ส้มผิวทอง ที่สลับกันออกผลตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ประกอบด้วย 2 สวนคือ สวนส้มธนาธร 2 (บ้านลาน) เริ่มเพาะปลูกใน พ.ศ. 2527 ในพื้นที่อำเภอฝาง บนพื้นที่กว่า 700 ไร่ โอบล้อมด้วยธรรมชาติขุนเขา และวิวทิวทัศน์ที่งดงามของสวนส้มที่ออกผล ให้ความรู้ในเรื่องการปลูกส้มแก่ผู้ที่สนใจ ชมวิธีการปลูกมีผักไฮโดรโพนิกส์ ชิมผักสลัดสด และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สดใหม่จากสวน ทางสวนมีบริการรถเรือและรถกอล์ฟนำชมพื้นที่ค่าบริการ 30 บาท/คน

สวนธนาธร 8 หรือสวนท่าตอน เพาะปลูกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2535 ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย บนพื้นที่ประมาณ 450 ไร่ เพาะปลูกส้ม 2 สายพันธุ์ ได้แก่ส้มสายน้ำผึ้งและโอเชี่ยนฮันนี่ไร้เมล็ด พื้นที่เป็นเนินเขามีจุดชมวิวมองเห็นแม่น้ำกก สามารถนั่งรถเรือชมทิวทัศน์ภายในสวนและเลือกเก็บส้มสด ๆ จากต้น เลือกซื้อของฝากจากร้านขายของที่ระลึก อาทิ ส้มสดจากสวน เทียนหอม กระเป๋า เป็นต้น

เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. +66 5334 6554-6, +66 5388 3392-7, +66 5388 3420-2 โทรสาร +66 5334 6598, +66 5388 3833 หรือ www.tntorchard.com
การเดินทาง
รถยนต์ ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ผ่านอำเภอแม่ริม แม่แตง เชียงดาว ไชยปราการ ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร
รถประจำทาง เชียงใหม่-ฝางออกจากสถานีขนส่งช้างเผือก







จุดเด่นของที่นี่

- ไร่ส้มหลากหลายสายพันธุ์
- อากาศสดชื่น เย็นสบาย
- มองเห็นวิวทิวทัศน์ของ อช.ดอยผ้าห่มปก ได้ชัดเจน
- มีรถนำชม
- ส้มคาราเมนติน ส้มลูกเล็กๆ รสชาติอมหวาน ทานได้ทั้งเปลือก
- ส้มธนาธร Number 1  สีเหลือง ลูกใหญ่ เปลือกหนา คล้ายส้มเช้ง หวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม น้ำเยอะ

#### อ้างอิง  http://banmuangnuea.com/tourist-places/thanathon-orchard/

ประวัติ

1. ประวัติความเป็นมา      
       
          อำเภอแม่อายตั้งอยู่ในบริเวณเมืองโบราณที่ชื่อ เวียงมะลิกา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ตำบลแม่อาย ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่อาย 2 กิโลเมตร มีทางแยกออก จากทางหลวงแผ่นดินสายฝาง-ท่าตอน กิโลเมตรที่ 16.50 เป็นทางดินอัดแน่นระยะทาง 200 เมตร มีคูเมืองและซากอิฐกำแพงดินเป็นที่สังเกตได้ราษฏร ถือว่าเป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ ตำนานเวียงมะลิกา เขียนว่า เจ้าแม่มะลิกา เป็นราชบุตรี ในพระเจ้าฝางและพระนางสามผิว (พระนางสามผิว มีพระฉวีวรรณงดงามในตอนเช้า มีพระฉวีวรรณผุดผ่องดุจดอกมะลิ ในเวลาเที่ยงวันพระฉวีวรรณ เปลี่ยนเป็นสีแดงดอกกุหลาบ ต่อมาเวลาเย็นพระฉวีวรรณจะเปลี่ยนแปลงเป็นสีชมพูดุจ ดอกบัวจงกลนี จึงได้พระนามว่า "พระนางสามผิว" พระนางสามผิว มีพระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ ทรงสักการะบูชาทุกค่ำเช้า วันหนึ่งมี่ขุ่นเคืองพระทัยด้วยเรื่อง พระสนมเอกของพระเจ้าฝาง เมื่อถึงเวลาถวายเทียนสักการะบูชาพระพุทธปฏิมาแต่พระองค์ยังมิอาจดับพระทัยที่ขุ่นเคืองได้ ขณะที่จุดเทียนถวายสักการะ บูชาพระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์ และทรงละเลยไว้ด้วยความประมาท เทียนที่จุดไว้ล้มลงเผาไหมพระโอษฐ์พระพุทธปฏิมา รุ่งขึ้นเวลาเช้าเมื่อพระนางเจ้า เสด็จออกจากที่บรรทมทรงทราบว่าเทียนล้มลงเผาไหม้พระโอษฐ์พระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์ก็ทรงสำนึกความบาปที่กระทำด้วยความประมาท ครั้นกาลต่อมา พระครรภ์ครบกำหนดทศมาส ประสูติพระราชธิดาผู้ทรงโฉมศิริโสภาคพระฉวีวรรณผุดผ่องแม้นเหมือนพระมารดา แต่ก็มีตำหนิที่ควรสมเพชที่พระธิดา มีริมพระโอษฐ์ล่างแหว่งไป

          เมื่อราชบุตรีทรงวุฒิจำเริญขึ้น พระเจ้าฝางทรงเกรงเป็นที่ละอายแก่ไพร่ฟ้าพลเมืองจึงทรงสร้างสวนหลวงขึ้นทางทิศเหนีอเวียงสุโท (ใกล้กับ เมืองฝาง) และสร้างคุ้มหลวง ประกอบด้วย คู และปราการ ล้อมรอบประทานราชบุตรี ให้เป็นที่ประทับสำราญ สวนหลวงแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "เวียงมะลิกา" เชื่อว่า เวียงมะลิกาไม่มีบุรุษเพศเลย ผู้คนล้วนแต่สตรีเพศพระแม่เจ้าทรงฝึกฝนสตรีผู้กำยำเป็นทะแกล้วคนหาญของเวียงมะลิกา จนเป็นที่ลือชา ปรากฏว่าเวียงมะลิกามีคนหาญการธนูที่แกร่งกล้ายิงแม่นนัก

          กาลต่อมามีราชบุตรของเจ้าผู้ครองเวียงภูก่ำ (แคว้นไตใหญ่) ได้สดับข่าวเกี่ยวกับพระเจ้าแม่มะลิกา แรงแห่งบุพเพสันนิวาสเกิดขึ้นในราชบุตร พระราชบุตรได้ทรงอ้อนวอนพระเจ้าภูก่ำ ขอเสด็จไปเวียงมะลิกาเยี่ยงสามัญชนคนค้าขาย พระเจ้าภูก่ำทรงอนุยาต แล้วดำรัสสั่งอำมาตย์คนสนิท ให้ ตระเตรียมม้าต่างอัญมณีเป็นสินค้าโดยเสด็จพระราชบุตร ข่าวการเสด็จฯของพระราชบุตรทราบถึงเจ้าแม่มะลิกา พระองค์ก็เกิดอางขนางในวันที่พระราช บุตรกำหนดเข้าเฝ้าถวาย อัญมณีแม่เจ้าก็เสด็จหลีกลี้ไปสรงสนานน้ำห้วยและแต่งให้พระพี่เลี้ยงนางเหลี่ยวอยู่เวียงมะลิการับเสด็จพระราชบุตร เมื่อพระราช บุตรในรูปของพ่อค้านายวาณิชเข้าเฝ้า พระพี่เลี้ยงก็กล่าวว่าแม่เจ้าไม่ทรงปรารถนาพบเห็นชายใด ๆ และไม่ต้องประสงค์ในการได้ยินเรื่องเช่นนี้ พ่อค้า จำแลงก็ลากลับเวียงภูก่ำด้วยความโทมนัส ขณะที่พระนางมะลิกาสรงสนานอยู่ น้ำในลำห้วยก็กลายเป็นสีเลือดด้วยละอายพระทัยคนทั้งหลายจึงเรียกน้ำห้วย นั้นว่า "แม่อาย" จึงได้ชื่อตำบลนี้ว่า "แม่อาย"


          อำเภอแม่อาย เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้นกับอำเภอฝาง ซึ่งทางราชการได้แยกตำบลแม่อาย ตำบลแม่สาว และตำบลแม่นาวาง ออกจากอำเภอฝาง ยกฐานะ ให้เป็นกิ่ง ให้นามว่ากิ่งอำเภอแม่อายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2510 และเวลาต่อมาอีก 6 ปี ได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอแม่อาย ขึ้นเป็นอำเภอแม่อาย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2516

          อำเภอแม่อายอยู่ห่างจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ ไปทางทิศเหนือประมาณ 175 กิโลเมตร อำเภอแม่อายมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และ วัฒนธรรมที่สำคัญเช่น พระธาตุสบฝาง พระธาตุดอยน้ำค้าง พระธาตุปูแช่ อนุสาวรีย์เจ้าแม่มะลิกา
อ.แม่อาย  จ.เชียงใหม่  อยู่ทางทิศเหนือตอนบนของประเทศไทย  ติดพรมแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศพม่า ที่ว่าการอำเภอแม่อาย และศูนย์ราชการอำเภอแม่อาย  อยู่ที่บ้านปู่แช่ใหม่ ม.4 ต.แม่อาย บนถนนสายฝาง – ท่าตอน  (ทางหลวงหมายเลข 1098 กิโลเมตรที่ 19 ) ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือ 173  กม. ไปตามถนนสายเชียงใหม่ – ฝาง  151  กม.  (ทางหลวงหมายเลข  107 ) และตามถนนฝาง – ท่าตอน (ทางหลวงหมายเลข 1098)

2. เนื้อที่/พื้นที่



736.701 ตร.กม.

3. สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป
          อากาศเย็นสบายมีอุณหภูมิเฉลี่ย ประมาณ 20 องศาเซลเซียส ในฤดูหนาว จะหนาวจัด มีหมอกปกคลุม พื้นที่อุณหภูมิเคยต่ำสุดถึง 2 องศา ส่วนฤดูร้อน อุณหภูมิ 34 องศา ฤดูฝนปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,200 - 1,400 มม. 

####  อ้างอิง  http://www.amphoe.com/menu.php?mid=1&am=155&pv=13